เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะโดยร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น กรมโฆษณาการจึงได้จัดทำโปสเตอร์สังกะสีออกปิดตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อชวนเชื่อกับประชาชนคนไทยในขณะนั้นว่า “พี่น้องชาวไทยจงมีความสามัคคีกัน จงเชื่อมั่นในรัฐบาลและกองทัพของเรา มีความเชื่อมั่นว่าเราต้องชะนะ จงระลึกเสมอว่า ข่าวที่มาจากศัตรูย่อมเป็นข่าวร้ายต่อเรา และข่าวที่ไม่ดีสำหรับเราก็คือข่าวของศัตรู” และ “อังกฤษเป็นศัตรูของพวกเรา จงร่วมใจทำลายผู้รุกรานด้วยกันและขอให้ไทยเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ทั้งขอให้บรรลุผลการวางระเบียบโลกใหม่ในอาเซีย” ในกาลต่อมาที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว และทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายพันธมิตร จนเกิดเหตุการณ์ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนสินค้า และขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงจากการถูกยึดครองกิจการธุรกิจ ทำให้เกิดภาวะคนตกงานจำนวนมาก หากย้อนกลับไปในช่วงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2481 ช่วงพันเอกหลวงพิบูลสงครามเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เดิมทีเป็นช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทั้งสถานการณ์ภายในและระหว่างประเทศ รัฐบาลได้มีนโยบายสำคัญที่เรียกว่า “นโยบายสร้างชาติ” คือการนำสยามประเทศเข้าสู่ความเป็นอารยะและมหาอำนาจ  เพื่อบรรลุนโยบายดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการหลายประการอาทิ การปลุกเร้าประชาชนด้วยนโยบายผู้นำนิยม สร้างลัทธิชาตินิยมอย่างเข้มข้นขึ้น มีการปฏิวัติทางวัฒนธรรม โดยชักจูงใจให้ชาวไทยรวมพลังสามัคคีเพื่อสร้างชาติ และเพื่อให้คนไทยมี “วัฒนธรรมดี มีศีลธรรมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายอันเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี” รัฐได้ใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อบรรลุนโยบายดังกล่าว อาทิ การสร้าง “รัฐนิยม”… Continue reading เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย

เข็มขัดรัฐพาณิชย์

“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดตาย”  นี่คือคำมั่นสัญญาของรัฐบาลคณะราษฎร ที่ได้ประกาศชัดเจนในหลัก 6 ประการ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สยามประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปรากฏว่ามีคนตกงานจำนวนมากและถือเป็นปัญหาใหญ่ของชาติกระทั่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเหล่ากรรมกรว่างงานได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล ให้จัดหางานให้ทำ  รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหางานขึ้น 2 ฉบับคือ “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน”  และ “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น” นับเป็นนโยบายแรกของรัฐบาลประชาธิปไตยเกี่ยวกับกรรมกร  โดยเป็นนโยบายการหางานให้กรรมกรทำและให้กรรมกรที่ว่างงานไปลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางาน  รวมทั้งได้มีการจัดตั้งแผนกจัดหางานขึ้นในกระทรวงมหาดไทยในปี 2476 นับเป็นหน่วยงานแรกของรัฐที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลงานด้านแรงงานโดยตรง ในปี 2476 รัฐบาลคณะราษฎร โดย ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยใช้แนวทางสังคมนิยมเป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งหลักประกันสังคม รวมถึงการจัดสรรที่ดินและแบ่งปันกำไรอย่างเสมอภาค แต่ท้ายที่สุดกลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอำนาจเก่า ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐบาลคณะราษฎรจึงเลือกแนวทางประนีประนาม และใช้นโยบายทางเศรษฐกิจชาตินิยม  โดยรัฐบาลได้เข้าไปริเริ่มดำเนินกิจการอุตสาหกรรมด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ แทนที่กิจการของชาวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “รัฐพาณิชย์” หรือ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เช่น กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ทั้งยังได้ดำเนินการจัดสรรจ้างแรงงานไทยให้เข้าทำงานในกิจการของรัฐมากยิ่งขึ้น นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อหลวงพิบูลสงคราม  และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง กิจการของชาวต่างชาติหลายอย่างได้ถูกถ่ายมาอยู่ในมือนักลงทุนไทยและรัฐมากขึ้น ซึ่งปรากฏชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นช่วงที่ทุนตะวันตกอ่อนแอ

เอกสารก่อตั้งสมาคมรถราง

ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการรวมตัวเป็นสโมสรและสมาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 แต่คนงานและผู้ใช้แรงงานไม่เคยได้รับการยอมรับให้จดทะเบียนเป็นสมาคม แม้มีการยื่นขอจดทะเบียนสมาคมของคนงานหลายต่อหลายครั้ง จึงมีเพียงการรวมตัวกันของแรงงานจีนในรูปแบบของสมาคมลับอั้งยี่ ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกรรมกร และต่อมาได้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามเมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติอั้งยี่ขึ้นมาบังคับใช้ เพื่อควบคุมสมาคมลับของชาวจีน และเพื่อให้มีการจัดตั้งสมาคมแบบเปิดเผยเป็นทางการขึ้นอันเป็นการสะดวกแก่การตรวจสอบดูแลของรัฐ แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยังไม่ยินยอมที่จะให้แรงงานได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมคนงานขึ้นตามกฎหมายใหม่นี้        แม้จะมีแรงงานหลายกลุ่มพยายามยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสมาคมของแรงงานรายใดได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องรอจนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ไปแล้ว  ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างได้รับการยอมรับมากขึ้น กรรมกรเริ่มมีปากมีเสียง เริ่มรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กร และในเดือนสิงหาคมปีนั้นเอง สมาคมของคนงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมแรกคือ “สมาคมคนงานรถรางสยาม” ที่นำโดย นายถวัติ ฤทธิเดช ปัญญาชนที่มีบทบาทอันโดดเด่นมาก่อนหน้านี้ในฐานะนักหนังสือพิมพ์กรรมกร และนักจัดตั้งแรงงาน สมาคมคนงานรถรางสยามจึงได้รับการยอมรับให้จดทะเบียนเป็นสมาคมของคนงานแห่งแรกอย่างถูกต้อง และมีใบเอกสารจดทะเบียนของสมาคมรถราง ใบบันทึกสภาผู้แทนราษฎร คำสั่ง 119 อย่างเป็นทางการตามกฎหมาย 

เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองตอนย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นนำโดยคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณะราษฎร” อันประกอบด้วยข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน และประชาชนจำนวนหนึ่งที่มองเห็นว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ขณะนั้นล้าหลัง ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้   รวมถึงผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งได้เข้าไปร่วมในขบวนการอภิวัฒน์ครั้งนั้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมคนงานรถรางและสมาคมคนงานรถไฟ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์ประชาธิปไตย ร่วมกับรัฐบาลคณะราษฎร ประชาชนจำนวนมาก และสหภาพแรงงานหลายแห่ง ในการต่อต้านการก่อกบฏของบวรเดช  ในขณะที่พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังทหารจากหัวเมือง เพื่อหมายที่จะยึดอำนาจและล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้น ในเดือนตุลาคม 2476 ถวัติ ฤทธิเดช และสุ่น กิจจำนงค์ นักหนังสือพิมพ์กรรมกรและผู้นำการต่อสู้ของกรรมกรรถราง รวมทั้งกรรมกรภายใต้การจัดตั้งจำนวน 3,000 คน ได้ขอเป็นอาสาสมัครไปรบกับกำลังฝ่ายขบถต่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่พวกเขาถูกขอกำลังกรรมกรช่วยทำหน้าที่รักษาความสงบภายในพระนครและธนบุรี พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ในการปราบกบฏคราวนั้นจนเป็นผลสำเร็จ หลังเหตุการณ์นั้น รัฐบาลได้ทำเหรียญมอบให้กับผู้ที่เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาล เรียกว่า “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของพวกเขา อ้างอิง สังศิต พิริยะรังสรรค์. ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.

กฎหมายแรงงานฉบับแรก

แม้สยามจะเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ครั้งแรก) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2462 โดยที่ประชุมได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้งหลาย ตรากฎหมายแรงงานขึ้นเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน แต่รัฐบาลสยามขณะนั้นก็ยังไม่ยินยอมตรากฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ โดยให้เหตุผลว่าประเทศสยามเป็นประเทศกสิกรรมมีแรงงานจำนวนน้อยมาก อย่างไรก็ตาม องค์กรแรงงานระหว่างประเทศก็เร่งรัดตลอดมา เพื่อให้ประเทศสยาม (ไทย) ตราพระราชบัญญัติแรงงานออกมาใช้  จนในที่สุดรัฐบาลก็ได้ทำร่างกฎหมายแรงงานฉบับแรกออกมาในปี  พ.ศ. 2470  เรียกว่า “พระราชบัญญัติอุตสาหกรรมและกรรมกร 2470” ร่างกฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะให้การคุ้มครองและดูแลความปลอดภัยในการทำงานของกรรมกร แต่ก็ยังไม่มีการให้สิทธิแก่คนงานในการจัดตั้งองค์กร (สหภาพ) และไม่ให้อำนาจกับแรงงานในการเจรจาต่อรอง อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวฉบับไม่ได้ถูกประกาศใช้แต่อย่างใด โดยมีเพียงแค่การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการจ้างแรงงาน ในปี พ.ศ. 2472 เท่านั้น กาลต่อมาได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499” ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2500 ถือว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์ฉบับแรกของไทย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องของ การจำกัดชั่วโมงการทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ สิทธิหยุดลาคลอด การรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงาน การห้ามใช้แรงงานเด็ก  และสวัสดิการในที่ทำงาน เป็นต้น แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์… Continue reading กฎหมายแรงงานฉบับแรก

หนังสือพิมพ์กรรมกร

“…ด้วยเห็นทุกข์แก่เพื่อนกันเช่นนี้พวกเราซึ่งเป็นคนงานจึงได้รวบรวมเงินเล็กน้อยที่เข้าใจว่าเหลือจากนายจ้างอุบาทว์ได้รีดเอาไปโดยมิชอบธรรมคิดจัดตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้น โดยขนานนามหนังสือพิมพ์นี้ว่า ‘หนังสือพิมพ์กรรมกร’ ด้วยความมุ่งใจเป็นส่วนใหญ่คือหวังจะประหารสภาพแห่งการเป็นทาษซึ่งเป็นฉายาแฝงอยู่ในตัวคนงานฤาลูกจ้างให้ปลาศไปและให้อิศรภาพเข้ามาแทนที่” ถวัติฤทธิเดช – คำนำของหนังสือพิมพ์กรรมกร27 มกราคม 2465 หนังสือพิมพ์กรรมกร (พ.ศ. 2465-2467) นับเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทต่อสมาคมคนงาน และสร้างสำนึกทางการเมืองของแรงงานเป็นอย่างยิ่ง ผ่านปัญญาชนเสรีนิยมที่เรียกตนเองว่า “คณะกรรมกร” หรือคณะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประกอบไปด้วย ถวัติ ฤทธิเดช, สุ่น กิจจำนงค์, ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร, ถวัลย์ ชาติอาษา และขุนสมาหาร หิตะคดี (โประ โปรคุปต์)  คณะกรรมกรได้กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางความคิดและการเมืองแก่ขบวนการแรงงานในขณะนั้น ซ้ำยังเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน ปลูกฝังความคิดทางการเมืองและประชาธิปไตยแก่คนงาน รวมถึงการมีบทบาทในการจัดตั้งกรรมกรรถรางขึ้น ซึ่งกลายไปเป็นฐานสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเหตุการณ์กบฏบวรเดช ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะกรรมกร เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวเป็นสมาคมคนงานอาชีพต่าง ๆ ตลอดจนการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2529) อ้างอิง สังศิต พิริยะรังสรรค์. ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม… Continue reading หนังสือพิมพ์กรรมกร

เทียนวรรณ

เทียนวรรณ หรือ เทียน วัณณาโภ นามปากกา “ต.ว.ส. วัณณาโภ”  (พ.ศ. 2385 – 2458) นับเป็นหนึ่งในปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่ปรากฏขึ้นในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยปัญญาชนหลายคนในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้เห็นถึงความสำคัญและความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน จนเกิดการสะท้อนปัญหา ตลอดจนเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ให้แก่ผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง ผ่านการใช้ปากกาและงานเขียนของตน หรือเคลื่อนไหวเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับผู้ใช้แรงงาน และหนึ่งในปัญญาชนนักคิดเหล่านั้นก็คือ “เทียนวรรณ”  เทียนวรรณ เป็นนักคิดสามัญชนรุ่นบุกเบิก เป็นทนายความ และเป็นผู้ทำหนังสือตุลวิภาคพจนกิจ และหนังสือศิริพจนภาค ออกมาเพื่อเผยแพร่ความคิดสมัยใหม่ เขาเป็นผู้เล็งเห็นความสำคัญของชนชั้นผู้ใช้แรงงานในขณะยุคสมัยนั้นที่ถูกเรียกขานว่า “ไพร่-ทาส” เขาเรียกร้องให้นำเอาระบบรัฐสภามาใช้ในการเมืองไทย เพื่อให้ผู้คนได้เสมอภาคกันในสังคม และนั่นทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่นานถึง 17 ปี เนื่องจากความคิดของเขาก้าวหน้าเกินกว่าที่ผู้ปกครองในสมัยนั้นจะรับได้ ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย

ใบปลิวเรียกร้องของอู่ลากรถ

การเคลื่อนไหวครั้งแรกของกุลีลากรถเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2459 โดยมีกรรมกร 5 คนได้ร่วมกันออกประกาศให้จีนลากรถหยุดลากรถในวันที่ 4 เมษายน แต่ในวันดังกล่าวยังคงมีจีนลากรถบางส่วนออกมาทำงานตามปกติ ทำให้ถูกพวกรถลากด้วยกันทำร้าย เอกสารที่เห็นอยู่นี้เป็นเอกสารของกรรมกรลากรถชาวจีนทำใบปลิวรณรงค์เรียกร้องไม่ให้เพื่อนคนงานไปลากรถให้กับนายทุนเจ้าของอู่ที่เอาเปรียบคนงาน โดยใช้วิธีสาปแช่งคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ แม้ท้ายที่สุดจะได้รับการเจรจาระงับการขึ้นค่าเช่ารถของเจ้าของรถตามเดิม พร้อมรับรองความปลอดภัยระหว่างการลากรถ การต่อสู้ของกุลีลากรถครั้งใหญ่ปรากฏขึ้นในปี พ.ศ. 2475 กุลีลากรถจำนวน 6,000 คน ในกรุงเทพฯ ได้ทำการสไตรค์หยุดลากรถ เนื่องจากเจ้าของอู่รถค้ากำไรเกินควร โดยคิดอัตราค่าเช่ารถสูงกว่าอัตราที่ทางการกำหนด นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม และยุติลงในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หลังเจ้าของอู่รถได้ตกลงยินยอมลดค่าเช่า การสไตรค์หลายครั้งของกุลีจีนกลุ่มนี้แม้จะประสบความสำเร็จแต่กลับไม่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างแท้จริง เป็นการต่อสู้ให้มีชีวิตอยู่รอดเพียงเท่านั้น กุลีลากรถ หรือที่คนเรียกติดปากว่ารถเจ๊ก เกิดขึ้นในยุคที่กรุงเทพฯ  กำลังพัฒนาเป็นเมืองศิวิไลซ์ตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่  5  ราวทศวรรษ  2430  และพัฒนาเป็นพาหนะหลักของคนกรุง แต่ต่อมาค่อย ๆ ลดจำนวนลงหลังสงครามโลกครั้งที่  2  จนรัฐได้ประกาศให้งดจดทะเบียนรถลากในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  พ.ศ.  2496… Continue reading ใบปลิวเรียกร้องของอู่ลากรถ

หนังสือทรัพยศาสตร์

หนังสือทรัพยศาสตร์ถือเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศสยาม (ไทย) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2454 ผู้เขียนคือพระยาสุริยานุวัตร หรือ เกิด บุนนาค ซึ่งเป็นขุนนางผู้ไม่พอใจในความล้าหลังของระบบเศรษฐกิจและการปกครองของรัฐบาล “ข้างคนชั้นต่ำถึงจะอุตส่าห์ทำการเหน็ดเหนื่อยสักเท่าใดก็ได้ค่าแรงไม่พอจะเลี้ยงชีพให้มีความสุขเสมอไม่ได้แต่ฝ่ายชนชั้นสูงแม้แต่จะไม่ได้ทำงานอย่างใดหากมีทุนทรัพย์สมบัติสะสมอยู่มากก็ได้รับผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากทุนและทรัพย์สมบัตินั้นเป็นธรรมดา”  หนังสือทรัพยศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ การผลิต การกระจายรายได้ การค้าและการแลกเปลี่ยน ภาคที่เป็นปัญหานำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์โดยฝ่ายรัฐบาล และถูกโจมตีทางการเมืองมากที่สุด คือ ภาคที่สองว่าด้วยการกระจายรายได้ เพราะกล่าวถึงกลไกความยุติธรรมของผลตอบแทน และที่มาของรายได้ของผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ค่าเช่าที่ดิน กำไร ค่าแรง สมาคมของคนงาน (แนวคิดในลักษณะสมัยกลาง ไม่ใช่แนวคิดสหภาพแรงงานยุคปัจจุบัน) แต่ถึงกระนั้น พระยาสุริยานุวัตรก็ไม่ได้สนับสนุนแนวทางการขบวนการสหภาพแรงงานที่มีการเจรจาต่อรองและการนัดหยุดงาน เพราะมองว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักการเสรีนิยมและเป็นการทำลายประโยชน์ของสังคม เช่นเดียวกันกับความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกทั่วไป ท้ายที่สุดการอธิบายเนื้อหาในหนังสือโดยการพยายามอ้างอิงบริบทของสังคมขณะนั้น ทำให้รัฐบาลในช่วงเวลานั้นมองว่าทรัพยศาสตร์เป็นหนังสือแนวปฏิวัติจึงถูกห้ามตีพิมพ์และห้ามใช้ในการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 7 และกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในที่สุด อ้างอิง แล ดิลกวิทยรัตน์. “แรงงานในทรัพย์ศาสตร์: ทัศนะทุนนิยมในยุคศักดินา.” ใน ประวัติศาสตร์แรงงานไทย (ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร), บรรณาธิการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์ สุวิมล รุ่งเจริญ ศักดินา ฉัตรกุล… Continue reading หนังสือทรัพยศาสตร์

จดหมาย ร.5 ถึงกรมพระยาดำรงฯ เรื่องเลิกทาส

ระบบเศรษฐกิจและการผลิตแบบใหม่ที่อาศัยแรงงานรับจ้างเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตกได้ขยายตัวคืบคลานไปทุกพื้นที่ของโลกไม่เว้นแม้แต่สยามประเทศ ระบบการบังคับเกณฑ์แรงงานแบบดั้งเดิม กลายเป็นเรื่องป่าเถื่อน ล้าสมัยและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เกิดกระแสเรียกร้องจากชนชั้นล่างของสังคมเพื่อให้ยกเลิกพันธนาการ และการขูดรีดแรงงานในระบบศักดินา รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือการลุกขึ้นก่อกบฏของไพร่ในหลายพื้นที่ หลายช่วงเวลา และที่สำคัญแหล่งอำนาจและความมั่งคั่งของชนชั้นนำในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นหาได้มาจากการบังคับเกณฑ์แรงงานแบบเดิมอีกต่อไป ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สภาวะจำยอมในการตราพระราชบัญญัติยกเลิกระบบไพร่-ทาสจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ในกาลต่อมา ทั้งจากเหตุผลข้างต้นและเหตุผลด้านการเมืองภายในประเทศ ผลของการยกเลิกระบบไพร่-ทาส ซึ่งนับเป็นการลดอำนาจของกลุ่มขุนนางลงด้วยในทางปฏิบัติในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ทำให้ประชากรสยามในขณะนั้นที่มีราว 8.13 ล้านคน ซึ่งเป็นเจ้านายขุนนางที่ถือเป็นชนชั้นปกครองประมาณ 1 ล้านคน กลุ่มคนที่เป็นไพร่ 5.78 ล้านคน และทาส 1.35 ล้านคน มีฐานะเท่าเทียมกันในทางทฤษฎี เอกสารทางประวัติศาสตร์ข้างต้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป รัชกาลที่ 5 ได้ทำจดหมายบันทึกถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เตรียมการให้การศึกษากับบรรดาลูกทาสที่จะได้เป็นไทหลังอายุครบ 20 ปี เพื่อให้มีความรู้ไปทำมาหากินไม่ขายตัวลงเป็นทาสอีกต่อไป