ระบบเศรษฐกิจและการผลิตแบบใหม่ที่อาศัยแรงงานรับจ้างเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตกได้ขยายตัวคืบคลานไปทุกพื้นที่ของโลกไม่เว้นแม้แต่สยามประเทศ ระบบการบังคับเกณฑ์แรงงานแบบดั้งเดิม กลายเป็นเรื่องป่าเถื่อน ล้าสมัยและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เกิดกระแสเรียกร้องจากชนชั้นล่างของสังคมเพื่อให้ยกเลิกพันธนาการ และการขูดรีดแรงงานในระบบศักดินา รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือการลุกขึ้นก่อกบฏของไพร่ในหลายพื้นที่ หลายช่วงเวลา และที่สำคัญแหล่งอำนาจและความมั่งคั่งของชนชั้นนำในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นหาได้มาจากการบังคับเกณฑ์แรงงานแบบเดิมอีกต่อไป ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สภาวะจำยอมในการตราพระราชบัญญัติยกเลิกระบบไพร่-ทาสจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ในกาลต่อมา ทั้งจากเหตุผลข้างต้นและเหตุผลด้านการเมืองภายในประเทศ ผลของการยกเลิกระบบไพร่-ทาส ซึ่งนับเป็นการลดอำนาจของกลุ่มขุนนางลงด้วยในทางปฏิบัติในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ทำให้ประชากรสยามในขณะนั้นที่มีราว 8.13 ล้านคน ซึ่งเป็นเจ้านายขุนนางที่ถือเป็นชนชั้นปกครองประมาณ 1 ล้านคน กลุ่มคนที่เป็นไพร่ 5.78 ล้านคน และทาส 1.35 ล้านคน มีฐานะเท่าเทียมกันในทางทฤษฎี เอกสารทางประวัติศาสตร์ข้างต้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป รัชกาลที่ 5 ได้ทำจดหมายบันทึกถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เตรียมการให้การศึกษากับบรรดาลูกทาสที่จะได้เป็นไทหลังอายุครบ 20 ปี เพื่อให้มีความรู้ไปทำมาหากินไม่ขายตัวลงเป็นทาสอีกต่อไป
Category: Collection – Room 2
เอกสารต้นร่างสัญญาบัตรขุนนางในกรุง
สำหรับรัฐจารีตโบราณกระทั่งถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ “กำลังคน” ถือเป็นทรัพยากรสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร สังคมไทยในยุคอดีต “ระบบไพร่” ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและเกณฑ์แรงงานผู้คนให้มาทำงานและสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐ และผู้ปกครอง (มูลนาย) ระบบไพร่ยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดสถานภาพ หน้าที่ ตลอดจนความรับผิดชอบของกลุ่มคนและเป็นเครื่องมือในการแบ่งชนชั้นและบ่งบอกชนชั้นในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น มีข้อสันนิษฐานว่ารัฐจารีตของไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ได้แบ่งคนในสังคมออกเป็น 2 ชนชั้น คือ ชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นผู้ถูกปกครอง ชนชั้นผู้ปกครองหรือมูลนายประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนาง ส่วนชนชั้นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ ไพร่ และ ทาส เอกสารต้นร่างสัญญาบัตรขุนนางในกรุงชิ้นนี้ คือ เอกสารการแต่งตั้งข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการกำหนดจำนวนศักดินาให้กับขุนนางต่างๆ
เอกสารภาษี
ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวสยามยังเป็นแรงงานบังคับภายใต้ระบบไพร่ ไม่มีอิสระที่จะทำงานหรือหารายได้ด้วยตนเอง จึงมีการนำเอาแรงงานจากจีนเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยคนจีนที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองไทยหรือที่เรียกว่า “จีนนอก” และลูกหลานจีนนอกที่ไม่มีสังกัดมูลนายในระบบไพร่ ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเช่นเดียวกับไพร่ ต่างกันตรงที่ไพร่ทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ลาว เขมร จีน) ต้องถูกเกณฑ์แรงงานทุกปี ส่วนการเกณฑ์แรงงานคนจีนมีทุก 3 ปี ระยะเวลามากน้อยต่างกัน เช่น 1 หรือ 2 เดือน แล้วแต่ราชการจะกำหนด หากแต่คนจีนที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงานต้องเสียเงินแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นการเรียกเก็บเงินภาษีรายหัวที่เรียกว่า “ผูกปี้ข้อมือจีน“ แทน ซึ่งค่าผูกปี้จะตกอยู่ราวปีละ 2 บาท คนจีนคนใดจ่ายเงินให้กับรัฐแล้วจะได้รับการผูกปี้ครั่งที่ข้อมือซ้าย ลักษณะเป็นปมเหลือชายไว้ประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้ครั่งลนไฟแล้วกดลงที่ปมเชือกเป็นก้อนกลม แล้วตามด้วยการประทับตราสำคัญของทางราชการ 2 ดวง คือ “ตรานามเมือง” และ “ตรารูปสิ่งของหรือรูปสัตว์” ลงบนครั่งด้านละตรา ปี้ที่ผูกไว้นี้ใช้เป็นหลักฐานการเสียภาษีแทนการเกณฑ์แรงงานคนจีนที่อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยสมัยก่อน อันเป็นสัญลักษณ์ว่ามีอิสระที่จะเดินทางไปไหนมาไหนหรือรับจ้างใด ๆ ได้ และจะตัดปี้ทิ้งได้ก็ต่อเมื่อพ้นช่วงเวลาของการเสียภาษี ในระหว่างนั้นหากคนจีนคนใดไม่มีปี้ผูกไว้ที่ข้อมือจะต้องเสียภาษีใหม่ คนจีนที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานและเสียภาษีผูกปี้คือ จีนขุนนาง เช่น เจ้าภาษี นายอากร… Continue reading เอกสารภาษี