“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดตาย” นี่คือคำมั่นสัญญาของรัฐบาลคณะราษฎร ที่ได้ประกาศชัดเจนในหลัก 6 ประการ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สยามประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปรากฏว่ามีคนตกงานจำนวนมากและถือเป็นปัญหาใหญ่ของชาติกระทั่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเหล่ากรรมกรว่างงานได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล ให้จัดหางานให้ทำ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหางานขึ้น 2 ฉบับคือ “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน” และ “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น” นับเป็นนโยบายแรกของรัฐบาลประชาธิปไตยเกี่ยวกับกรรมกร โดยเป็นนโยบายการหางานให้กรรมกรทำและให้กรรมกรที่ว่างงานไปลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางาน รวมทั้งได้มีการจัดตั้งแผนกจัดหางานขึ้นในกระทรวงมหาดไทยในปี 2476 นับเป็นหน่วยงานแรกของรัฐที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลงานด้านแรงงานโดยตรง ในปี 2476 รัฐบาลคณะราษฎร โดย ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยใช้แนวทางสังคมนิยมเป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งหลักประกันสังคม รวมถึงการจัดสรรที่ดินและแบ่งปันกำไรอย่างเสมอภาค แต่ท้ายที่สุดกลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอำนาจเก่า ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐบาลคณะราษฎรจึงเลือกแนวทางประนีประนาม และใช้นโยบายทางเศรษฐกิจชาตินิยม โดยรัฐบาลได้เข้าไปริเริ่มดำเนินกิจการอุตสาหกรรมด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ แทนที่กิจการของชาวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “รัฐพาณิชย์” หรือ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เช่น กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ทั้งยังได้ดำเนินการจัดสรรจ้างแรงงานไทยให้เข้าทำงานในกิจการของรัฐมากยิ่งขึ้น นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อหลวงพิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง กิจการของชาวต่างชาติหลายอย่างได้ถูกถ่ายมาอยู่ในมือนักลงทุนไทยและรัฐมากขึ้น ซึ่งปรากฏชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นช่วงที่ทุนตะวันตกอ่อนแอ
Category: Collection – Room 4
เอกสารก่อตั้งสมาคมรถราง
ประเทศไทยมีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการรวมตัวเป็นสโมสรและสมาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 แต่คนงานและผู้ใช้แรงงานไม่เคยได้รับการยอมรับให้จดทะเบียนเป็นสมาคม แม้มีการยื่นขอจดทะเบียนสมาคมของคนงานหลายต่อหลายครั้ง จึงมีเพียงการรวมตัวกันของแรงงานจีนในรูปแบบของสมาคมลับอั้งยี่ ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกรรมกร และต่อมาได้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามเมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติอั้งยี่ขึ้นมาบังคับใช้ เพื่อควบคุมสมาคมลับของชาวจีน และเพื่อให้มีการจัดตั้งสมาคมแบบเปิดเผยเป็นทางการขึ้นอันเป็นการสะดวกแก่การตรวจสอบดูแลของรัฐ แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยังไม่ยินยอมที่จะให้แรงงานได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมคนงานขึ้นตามกฎหมายใหม่นี้ แม้จะมีแรงงานหลายกลุ่มพยายามยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสมาคมของแรงงานรายใดได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องรอจนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ไปแล้ว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างได้รับการยอมรับมากขึ้น กรรมกรเริ่มมีปากมีเสียง เริ่มรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กร และในเดือนสิงหาคมปีนั้นเอง สมาคมของคนงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมแรกคือ “สมาคมคนงานรถรางสยาม” ที่นำโดย นายถวัติ ฤทธิเดช ปัญญาชนที่มีบทบาทอันโดดเด่นมาก่อนหน้านี้ในฐานะนักหนังสือพิมพ์กรรมกร และนักจัดตั้งแรงงาน สมาคมคนงานรถรางสยามจึงได้รับการยอมรับให้จดทะเบียนเป็นสมาคมของคนงานแห่งแรกอย่างถูกต้อง และมีใบเอกสารจดทะเบียนของสมาคมรถราง ใบบันทึกสภาผู้แทนราษฎร คำสั่ง 119 อย่างเป็นทางการตามกฎหมาย
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
การเปลี่ยนแปลงการปกครองตอนย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นนำโดยคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณะราษฎร” อันประกอบด้วยข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน และประชาชนจำนวนหนึ่งที่มองเห็นว่าระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ขณะนั้นล้าหลัง ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ รวมถึงผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งได้เข้าไปร่วมในขบวนการอภิวัฒน์ครั้งนั้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมคนงานรถรางและสมาคมคนงานรถไฟ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์ประชาธิปไตย ร่วมกับรัฐบาลคณะราษฎร ประชาชนจำนวนมาก และสหภาพแรงงานหลายแห่ง ในการต่อต้านการก่อกบฏของบวรเดช ในขณะที่พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังทหารจากหัวเมือง เพื่อหมายที่จะยึดอำนาจและล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เพิ่งถูกสถาปนาขึ้น ในเดือนตุลาคม 2476 ถวัติ ฤทธิเดช และสุ่น กิจจำนงค์ นักหนังสือพิมพ์กรรมกรและผู้นำการต่อสู้ของกรรมกรรถราง รวมทั้งกรรมกรภายใต้การจัดตั้งจำนวน 3,000 คน ได้ขอเป็นอาสาสมัครไปรบกับกำลังฝ่ายขบถต่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่พวกเขาถูกขอกำลังกรรมกรช่วยทำหน้าที่รักษาความสงบภายในพระนครและธนบุรี พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ในการปราบกบฏคราวนั้นจนเป็นผลสำเร็จ หลังเหตุการณ์นั้น รัฐบาลได้ทำเหรียญมอบให้กับผู้ที่เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาล เรียกว่า “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และเชิดชูในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของพวกเขา อ้างอิง สังศิต พิริยะรังสรรค์. ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.