“…เห็นข่าวลูกสาวเศรษฐีแต่งงานเป็นงานช้างของขวัญล้นหลามอดสะท้อนใจถึงคนงานหญิงหลายชีวิตในโรงงานที่ตระกูลของท่านเป็นเจ้าของร่วมอยู่ไม่ได้เธอเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้เสวยสุขแม้เพียงกระผีกริ้นของท่านเศรษฐีทั้งหลายตายไปโดยชะตากรรมเธอไม่ได้เลือกและโดยความทารุณที่สร้างขึ้นทางอ้อมจากเส้นทางที่นำไปสู่ความเป็นเศรษฐีของคนที่กินแรงงานของเธอค่าชีวิตของเธอกลับถูกต่อรองคนเขาหาว่าเธอเป็นแค่แรงงานหญิงค่าไม่ควรเกินแสนบาททำไมชีวิตของคนที่ทำงานหนักหาเลี้ยงคนอื่นให้กำไรกับนายจ้างให้ค่าเล่าเรียนแก่น้องให้ความอยู่รอดกับพ่อแม่ให้อนาคตกับลูกหลานให้ความสุขกับพี่น้องจึงถูกตีค่าต่ำกว่าชีวิตลูกสาวเศรษฐี…” ส่วนหนึ่งในจดหมายระบายความคับแค้นใจของนักกิจกรรมหญิงที่จัดกิจกรรมเดินรณรงค์ทวงสิทธิ กรณีโศกนาฏกรรมของคนงานเคเดอร์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ที่มีแรงงานเสียชีวิตทั้งสิ้น 188 คน เป็นแรงงานชาย 14 ราย แรงงานหญิง 174 ราย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บร่วม 469 คน จนเกิดการตั้งคณะกรรมการรณรงค์สุขภาพความปลอดภัยของคนงาน ตลอดจนผลักดันให้รัฐบาลแต่งตั้งตัวแทนจากแรงงานและนักวิชาการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยที่เสียชีวิตและทุพพลภาพ การต่อสู้ในครั้งนี้ทำให้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น แม้จะยังไม่มากพอดั่งหวังเท่าใดนัก อาทิ เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านเงินช่วยเหลือแรงงานผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพคนละ 1 แสนบาท และให้รัฐบาลประกาศว่าวันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ให้เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ท้ายที่สุด รัฐบาลลงมติเห็นชอบ และอนุมัติในวันที่ 26 สิงหาคม 2540 ซึ่งใช้เวลานานกว่าหลายปี แม้ปัจจุบันจะผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ปัญหาด้านความปลอดภัยในที่ทำงานยังคงไม่ครอบคลุม เช่น การได้รับสารเคมีจากการทำงาน สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย การทดแทนเยีวยาล่าช้าและมีเงื่อนไขมากมาย ฯลฯ ซ้ำร้ายยังขยายไปยังแรงงานภาคส่วนอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและคนในชุมชนโดยรอบ อ้างอิง… Continue reading ผ้าโผกหัวรณรงค์ทวงสิทธิกรณีเคเดอร์
Category: Collection – Room 6
เสื้อคนงานเคเดอร์ หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้
โรงงานตุ๊กตาเกิดเพลิงไหม้ นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของคนงานเคเดอร์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 มีแรงงานเสียชีวิตทั้งสิ้น 188 คน พิสูจน์ตัวตนจากซากศพไม่ได้จำนวน 10 คน ได้รับบาดเจ็บร่วม 469 คน และจากการสำรวจพบว่ามีเด็กนักเรียนที่เข้าไปทำงานชั่วคราวที่โรงงาน เสียชีวิตจำนวน 5 คน อยู่ชั้น ม.2 จำนวน 1 คน ชั้น ม.3 จำนวน 2 คน ชั้น ม.4 จำนวน 1 คน และชั้น ม.6 จำนวน 1 คน แรงงานที่เสียชีวิตเหล่านั้น มีบุตรกำลังศึกษาเล่าเรียน จำนวน 64 ราย และยังเป็นทารก จำนวน 19 ราย ปัญหาการเอาเปรียบคนงานของผู้ลงทุน โดนไม่สนใจความปลอดภัยในการทำงาน และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงปัญหาการดำเนินการสอบสวนปัญหาและช่วยเหลือคนงานผู้ประสบภัยของรัฐบาล ทำให้กลุ่มแรงงานต่าง ๆ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการแรงงาน… Continue reading เสื้อคนงานเคเดอร์ หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้
ตุ๊กตาเคเดอร์ฯ จากเหตุการณ์เพลิงไหม้
ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกเก็บมาจากซากโรงงานผลิตตุ๊กตาและของเล่นเด็ก บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไทยจิว ฟู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายการผลิตทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และอีกหลายแห่งทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลาประมาณ 16.00 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่จนกลายมาเป็นโศกนาฏกรรมของคนงานเคเดอร์ ส่งผลให้คนงานเสียชีวิตทั้งสิ้น 188 คน เป็นคนงานชาย 14 ราย ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง 174 ราย ไม่สามารถพิสูจน์ซากศพเพื่อระบุตัวตนได้ จำนวน 10 คน รวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บร่วม 469 คน โดยมีเด็กนักเรียนที่เข้าไปทำงานชั่วคราวในโรงงานอีกด้วย นับว่าเป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมไทย สาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียจำนวนมาก เนื่องจากโรงงานดังกล่าวขาดมาตรฐานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างอาคารที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อให้มีวัสดุหุ้มป้องกันไฟ ทำให้เมื่อเกิดไฟไหม้โครงสร้างจึงพังทลายลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีระบบเตือนภัย ประกอบกับเสียงเย็บจักรทำให้คนงานไม่ทราบเหตุการณ์ รวมถึงบันไดขนาดกว้าง 1.60 เมตร จำนวน 2… Continue reading ตุ๊กตาเคเดอร์ฯ จากเหตุการณ์เพลิงไหม้
แผ่นพับรณรงค์ลาคลอด 90 วัน
ภายหลังจากองค์กรแรงงาน และกลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และจัดตั้ง “คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิลาคลอด” ขึ้น โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิลาคลอดได้มีการทำแผ่นพับรณรงค์แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ได้สิทธิลาคลอด 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนจากนายจ้าง เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมการเรียกร้องจัดเวทีอภิปราย และผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกดดันรัฐบาล ในท้ายที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ได้มีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 13) วันที่ 28 เมษายน 2536 และได้มีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 โดยมีเนื้อหาให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 90 วัน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน ส่วนค่าจ้างอีก 45 วัน ไปรับจากกองทุนประกันสังคม ด้วยเหตุผลจากกองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยออกแถลงการณ์ว่า “สิทธิประโยชน์ควรได้รับจากระบบประกันสังคม ไม่ใช่จากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว” โดยจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมต่อไป ซึ่งพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 ได้ผ่านรัฐสภา และมีผลบังคับใช้ในปี 2538 ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันนานถึง 2 ปี
ประท้วงลาคลอด 3 เดือน บนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
“ฉันต้องการที่จะอยู่กับลูกที่เพิ่งคลอดของฉันเพื่อที่จะให้นมลูก เพื่อที่จะให้ลูกของฉันมีสุขภาพที่ดีมันมากไปหรอสำหรับคำขอของคนเป็นแม่” การตั้งคำถามของคุณแม่คนหนึ่งที่ทำงานในโรงงานทอผ้า ละออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นแม่ การเรียกร้องของคุณแม่และหญิงสาวทั้งหลาย เสมือนเป็นตัวแทนของความโกรธของแรงงานหญิงครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีความต้องการเหมือนกัน นั่นคือ สิทธิการลาคลอด 3 เดือน โดยยังคงได้รับเงินเดือนตามปกติ พวกเขาต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนและร่างกฎหมายนี้แต่กลับกลายเป็นถูกยื้อเวลาเนื่องจากไม่มีใครต้องการจ่ายเงินส่วนนี้ และหากกฏหมายนี้ผ่าน ทางรัฐบาลเกรงว่านักลงทุนต่างประเทศจะหนีไปหาที่ลงทุนอื่นในต่างประเทศไทย กลุ่มแรงงาน และกลุ่มเฟมินิสต์ต่าง ๆ จึงร่วมกันออกมาสนับสนุน และเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคุณแม่ทั่วโลกในวันสิทธิสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจของไทยเติบโตพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งมีอัตราการเกิดของเด็กที่มากขึ้นเช่นกัน แต่ประสิทธิภาพของกฎหมายลาคลอดให้แก่คุณแม่กลับไม่ยุติธรรม และมีการเลือกปฏิบัติระหว่างคุณแม่ที่ทำงานในภาครัฐกับคุณแม่ที่ทำงานในภาคเอกชนอย่างชัดเจน โดยแรงงานหญิงภาคเอกชนลาคลอดได้ 1 เดือน และลาคลอดได้ 2 เดือนในระบบราชการ แต่สามารถขอขยายเพิ่มได้ถึง 3 เดือน ซึ่งเป็นการนับรวมกับสิทธิลาป่วยและสิทธิในการลาทำธุระ หากย้อนศึกษาการให้เงินสนับสนุนการลาคลอดของต่างประเทศในช่วงเวลาเดียวกันจะพบว่า ลูกจ้างสตรีในญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ได้สิทธิลาคลอด 105 วัน ส่วนในยุโรปนั้นได้ถึง 7 เดือน ในสวีเดนได้ถึง 1 ปี และประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่าง ประเทศลาว อินโดนีเซีย และพม่า รัฐบาลได้ให้เงินสนับสนุนการลาคลอด 3 เดือนกับคุณแม่ทุกคน ดั่งเช่นกับข้อเรียกร้องของคุณแม่… Continue reading ประท้วงลาคลอด 3 เดือน บนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ธงกระดาษประท้วงลาคลอด 90 วัน
ธงกระดาษที่แรงงานหญิงใช้ในการรณรงค์ต่อสู้เรียกร้องในปี พ.ศ.2536 แรงงานสตรีได้ทำการรณรงค์เรียกร้องให้แรงงานหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องมาจากปี 2534 ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน กับสหพันธ์แรงงานและกลุ่มแรงงานสตรีจากย่านพระประแดง อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และรังสิต ต่อคณะรัฐมนตรียุคอานันท์ ปันยารชุน โดยต่อมา ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 รัฐบาลลองเริ่มนำร้องโดยการประกาศระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2535 เรื่องการลาคลอด 90 วันกับข้าราชการก่อน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2535 เป็นต้นไป เดิมทีข้าราชการสามารถลาคลอดและได้รับเงินเดือน 60 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ไม่เสียสิทธิในพิจารณาขั้นเงินเดือน เพิ่มให้มีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน และหากต้องการลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรเพิ่มต่อไปอีก ให้ลาได้ไม่เกิน 150 วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือน สำหรับแรงงานหญิงในภาคเอกชนกลับไม่มีมติ หรือนโยบายที่จะให้สิทธิเช่นเดียวกันกับข้าราชการหญิงทั่วไป และรัฐบาลยังได้ให้ความเห็นต่อสื่อว่า “ถ้าให้ลาได้ 90 วัน ต่อไปจะเกิดลูกหัวปีท้ายปีเพื่อให้ได้ลาคลอด” เพราะเดิมทีแรงงานสามารถลาคลอดได้เพียง 60 วัน… Continue reading ธงกระดาษประท้วงลาคลอด 90 วัน
อนุสัญญา ILO 87-98
ประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน กฎหมายว่าด้วยการประกันสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพนี้ ล้วนผ่านการต่อสู้เรียกร้องของผู้ใช้แรงงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากถูกคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในปี 2499 ปัจจุบันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีส่วนช่วยยกระดับแรงงานไทยในหลายมิติเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการแบ่งแยกแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นจึงเสมือนปราศจากการคุ้มครองตามกฎหมาย ไร้สิทธิการต่อรองและตั้งสหภาพของตนเอง ทั้งนี้เพื่อลดทอนโอกาสการรวมตัว และเพื่อประโยชน์ในการกดค่าแรง วันแรงงานสากลในปี พ.ศ. 2535 ขบวนการแรงงานเริ่มยื่นข้อเรียกร้องการให้สัตยาบัน ILO 87 และ ILO 98 ต่อรัฐบาลเป็นครั้งแรก ILO (International Labour Organization) หรือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2462 จากการรวมตัวของประเทศสมาชิก 45 ประเทศ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 187 ประเทศ รวมประเทศไทยด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานให้เกิดขึ้นในทุกประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพของความคุ้มครองทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช้แรงงานบังคับ ห้ามมีการเลือกปฏิบัติในการทำงาน และอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิการรวมตัว และอนุสัญญาฉบับที่ 98… Continue reading อนุสัญญา ILO 87-98
ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานถูกอุ้มหาย
“ถ้าพ่อหายไป 3 วันให้แจ้งความแสดงว่าถูกลักพาตัว และหากไม่ติดต่อมาใน 7 วัน ให้ทำใจพ่อเสียชีวิตแน่“ ทนงหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังทิ้งคำสั่งเสียสุดท้ายแก่ลูกเมีย ทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย องค์กรที่มีสมาชิกแรงงานมากที่สุด เขาได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและระดับสากล และยังมีบทบาทเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU) ที่สำคัญ ทนงเป็นผู้นำแรงงานที่มีบทบาทนำในการแข็งข้อกับเผด็จการ คณะ รสช. นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เจ้าของประโยค “ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร” หลังทำการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เพียงสามวัน ได้ประกาศเรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบ รวมถึง ทนง โพธิ์อ่าน ต่อมาได้ประกาศใช้คำสั่งฉบับ 54 ยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาของแรงงาน การรัฐประหารครั้งนี้ นับเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกภายในขบวนการแรงงาน 2 กลุ่มหลักอย่างชัดเจน ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา โดยการถือกระเช้าเข้าพบแสดงความยินดีหลังทำการรัฐประหาร และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย แกนนำหลักขณะนั้นคือ ทนง โพธิ์อ่าน ทนงได้ประณามการประกาศใช้กฎอัยการศึกและความต้องการสลายพลังขบวนการแรงงานภาคเอกชนกับแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกัน โดยได้แสดงทัศนะที่ชัดเจนแข็งกร้าวและคัดค้านคำสั่งต่อคณะ รสช. การเคลื่อนไหวของทนงได้รับการตอบรับจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง และได้เป็นผู้แทนคนงานไทยไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ… Continue reading ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานถูกอุ้มหาย
แยกรัฐวิสาหกิจออกจากเอกชน
“ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร” คำชี้แจงของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หลังทำรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และเพียงสามวันให้หลังได้ประกาศเรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศให้เข้าพบ เพื่อชี้แจงนโยบายและเหตุผลในการยึดอำนาจ พร้อมกล่าวคำชี้แจงในประโยคข้างต้น ก่อนภายหลังจะใช้อำนาจในการกำจัดสิทธิการเรียกร้องสิทธิแรงงาน และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ รสช. ด้วยการประกาศคณะ รสช.ฉบับที่ 54 แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อควบคุม จำกัดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานในภาคเอกชน ห้ามให้คนนอกเป็นที่ปรึกษาสหภาพ และมีการผ่านร่างกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นเอง แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งส่งผลให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดต้องถูกยกเลิกไป ต้องรวมตัวกันจดทะเบียนภายใต้รูปแบบสมาคมใหม่อีกครั้งภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 แทน ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งที่มุ่งสวามิภักดิ์เผด็จการ โดยการมอบช่อดอกไม้สนับสนุนคณะ รสช. พร้อมทั้งร่วมขับเคลื่อนงานไปกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 อย่างสงบภายใต้คำสั่งของคณะ รสช. การแสดงตนว่าเห็นด้วยกับการให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของสังคมว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ 3 คนและผู้นำแรงงานภาคเอกชนอีกหนึ่งคนได้รับการแต่งตั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยทั้งสี่คนพยายามคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผ่านการแปรญัตติและลงมติไม่เห็นชอบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์นี้ในสภาฯ แต่ก็ไม่เป็นผล… Continue reading แยกรัฐวิสาหกิจออกจากเอกชน
ประตูแดง กับ 2 พนักงานการไฟฟ้า
24 กันยายน 2519 พบศพพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 ราย ได้แก่ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย หลังจากติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ขณะนั้นบวชเป็นสามเณรกลับเข้าประเทศไทย มีคนพบร่างของทั้งสองคนถูกแขวนคอ ที่ประตูเหล็กในสถานที่ส่วนบุคคลแห่งหนึ่ง บริเวณสามแยกกระบือเผือก ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในลักษณะประจานเพื่อให้ประชาชนคนอื่น ๆ ได้พบเห็นอย่างจงใจโดยเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง แต่เรื่องกลับเงียบหาย ผู้กระทำไม่ถูกลงโทษทั้งทางกฎหมายหรือทางสังคมจนกระทั่งปัจจุบัน และเหตุการณ์นี้เป็นดั่งสารตั้งต้นในการแสดง “ละครแขวนคอ” โดยนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ชนวนหนึ่งในการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกปราบปราม ทำร้าย ทารุณและบางรายถูกจับแขวนคอใต้ต้นไม้บริเวณท้องสนามหลวง ประตูเหล็กถูกกัดกร่อนตามกาลเวลา ทำให้ปัจจุบันประตูเหล็กบานดังกล่าวมีสีน้ำตาลแดงของสนิมจึงถูกเรียกขานว่า “ประตูแดง” ปัจจุบันมีการรื้อถอนและเก็บรักษาประตูแดงเอาไว้ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมรำลึก และจัดแสดงเพื่อให้เห็นถึงความรุนแรงโดยรัฐ