24 กันยายน 2519 พบศพพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 ราย ได้แก่ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย หลังจากติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ขณะนั้นบวชเป็นสามเณรกลับเข้าประเทศไทย มีคนพบร่างของทั้งสองคนถูกแขวนคอ ที่ประตูเหล็กในสถานที่ส่วนบุคคลแห่งหนึ่ง บริเวณสามแยกกระบือเผือก ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ในลักษณะประจานเพื่อให้ประชาชนคนอื่น ๆ ได้พบเห็นอย่างจงใจโดยเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มหนึ่ง แต่เรื่องกลับเงียบหาย ผู้กระทำไม่ถูกลงโทษทั้งทางกฎหมายหรือทางสังคมจนกระทั่งปัจจุบัน และเหตุการณ์นี้เป็นดั่งสารตั้งต้นในการแสดง “ละครแขวนคอ” โดยนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ชนวนหนึ่งในการเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกปราบปราม ทำร้าย ทารุณและบางรายถูกจับแขวนคอใต้ต้นไม้บริเวณท้องสนามหลวง ประตูเหล็กถูกกัดกร่อนตามกาลเวลา ทำให้ปัจจุบันประตูเหล็กบานดังกล่าวมีสีน้ำตาลแดงของสนิมจึงถูกเรียกขานว่า “ประตูแดง” ปัจจุบันมีการรื้อถอนและเก็บรักษาประตูแดงเอาไว้ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมรำลึก และจัดแสดงเพื่อให้เห็นถึงความรุนแรงโดยรัฐ
การต่อสู้ของแรงงานหญิง ฮาร่า
“โดนเข็มตำมือเขาบอกให้เอาน้ำมันหยดแล้วกัน” ชอเกียง แซ่ฉั่ว ผู้นำการต่อสู้ของแรงงานหญิงฮาร่า กางเกงยีนส์ฮาร่าเป็นกางเกงยีนส์ที่มีชื่อเสียงและขายดีมาก โดยมีเจ้าของเป็นนายทุนจีนเชื้อสายไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในซอยวัดไผ่เงิน ตรอกจันทร์ 3 โรง ต่อมากิจการได้กำไรดีจึงได้ขยายไปตั้งโรงงานที่อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐมอีก 1 โรง โรงงานที่ตรอกจันทร์ซึ่งเป็นโรงงานแรกเริ่ม คนงานเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นคนจีนเนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ในย่านคนจีน ขณะที่เจ้าของโรงงานได้กำไรมหาศาล แต่กลับไม่ได้สนใจคนงานปล่อยให้โรงงานมีสภาพแวดล้อมย่ำแย่และสวัสดิการที่เลวร้าย การขยายโรงงานไปยังที่ใหม่ทำให้นายจ้างพยายามจะเอารัดเอาเปรียบคนงานโดยการลดค่าจ้างคนงานในโรงงานเก่า คนงานพยายามจะเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518 คนงานโรงงาน 1 ที่ตรอกจันทร์และที่อ้อมใหญ่ภายใต้การนำของ ชอเกียง แซ่ฉั่ว ได้พร้อมใจกันนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ แต่กลับได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรง หลังจากที่การนัดหยุดงานยืดเยื้อกว่า 3 เดือน คนงานได้ตัดสินใจยึดโรงงานที่วัดไผ่เงินมาทำการผลิตเอง โดยการขายหุ้น ระดมทุนจากประชาชนที่เห็นใจคนงานมาซื้อวัตถุดิบมาดำเนินการเอง โดยใช้ชื่อว่า “โรงงานสามัคคีกรรมกร” ทำการผลิตเสื้อและกางเกงยีนส์ออกจำหน่ายในราคาถูก ในที่สุดโรงงานสามัคคีกรรมกรของคนงานฮาร่าก็ถึงกาลอวสานเมื่อรัฐส่งเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามอย่างรุนแรง คนงานหลายคนถูกจับกุมดำเนินคดี ต่อมาได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ ขึ้นมาพิจารณากรณีพิพาทแรงงานโรงงานฮาร่าประกอบด้วยดร.เขียน ธีระวิทย์ อารมณ์ พงศ์พงัน และดนัย บุญนาค คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาด ให้นายจ้างรับคนงานที่หยุดงานกลับเข้าทำงาน ตามปกติ แต่นายจ้างไม่ยอมรับ… Continue reading การต่อสู้ของแรงงานหญิง ฮาร่า
เหรียญวีรชน 14 ตุลา
เหรียญวีรชน 14 ตุลาฯ เป็นเหรียญที่ระลึกในการต่อสู้ของเหล่าวีรชนโดยปราศจากอาวุธ จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนนท) จัดทำขึ้นเพื่อแจกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพวีรชนผู้เสียชีวิต กรณี 14-15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ณ เมรุท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2517 วันที่ ๑๔ ตุลา น่าอนาถ เขาพิฆาต เข่นฆ่า จนอาสัญ คือลูกแม่ อรรณพ ดิษฐสุวรรณ สู่สวรรค์ ชั้นวิมาน สะท้านใจ แต่นี้ไป ใครเล่า จะเรียกแม่ สุดทางแก้ เหลียวแล ชะแง้หา เจ้าไปแล้ว ไปลับ ไม่กลับมา แม่มีแต่ โศกา และอาดูร ขอฟ้าดิน จงเป็น พยานเถิด ให้ลูกข้า บังเกิด ในภพหน้า อย่ามีมาร ตามราญ ผลาญชีวา เป็นสุข… Continue reading เหรียญวีรชน 14 ตุลา
หนังสือพิมพ์ ฉบับสดุดีวีรชน
ภาพของ นาย ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว (ไอ้ก้านยาว) นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะกำลังถือไม้ขึ้นต่อสู้กับทหารที่มีอาวุธครบมือในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นช่างภาพที่เก็บภาพถ่ายนี้ คือ นายแปลก เข็มพิลา และได้รับการตีพิมพ์อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ “ฉบับสดุดีวีรชน” ในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2516
โปสเตอร์ หนังสือ และวารสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
วัตถุจัดแสดงกลุ่มนี้เป็นการรวบรวม สิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ หนังสือ เกี่ยวกับการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในช่วงเหตุการณ์วันมหาวิปโยค (วันที่ 14 ตุลาคม 2516) เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเป็นอย่างมากในหลายมิติ และยังก่อให้เกิดการฟื้นฟูขบวนการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่ถูกปราบปรามในช่วงยุครัฐบาลเผด็จการอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคถนอม ประภาส ณรงค์ ในปี 2516 โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวขบวนการแรงงานของสหภาพแรงงาน ที่กลับมามีบทบาทสำคัญทั้งบทบาทการเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ให้เพื่อนคนงานด้วยกันเองผ่านการนัดหยุดงาน ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก่อให้เกิดกระแสการนัดหยุดงานเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเป็นประวัติกาล ในปี พ.ศ. 2517 มีจำนวน 357 ครั้ง และในอีกสองปีถัดไปรวมกันจำนวนกว่า 374 ครั้ง ตลอดจนบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องปัญหาทางสังคมในประเทศขณะนั้น และมีการเคลื่อนไหวที่เด่นชัดร่วมกับกลุ่มพลังสำคัญของสังคม นั่นคือ ขบวนการนักศึกษา และขบวนการชาวนา อาจนับได้ว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการกรรมกรในยุค 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งถึงยุคเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีส่วนร่วมกับขบวนการทางสังคมอื่น… Continue reading โปสเตอร์ หนังสือ และวารสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
โปสเตอร์คอมมิวนิสต์หรือเสรีภาพ
ในยุคสงครามเย็น หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะผู้นำโลก ขณะที่รัฐไทยยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกา มีการออกโปสเตอร์เพื่อใช้ในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ผ่านการนำเสนอภาพคอมมิวนิสต์ในฐานะอุดมการณ์ที่เลวร้าย นำมาซึ่งความหายนะ ทุกข์ยากแก่คนในประเทศชาติ โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนในสังคมเกิดความหวาดกลัว และต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ โปสเตอร์ชุด “คอมมิวนิสต์ หรือ เสรีภาพ” ถูกผลิตมาเพื่อแสดงการเปรียบเทียบสังคมไทยที่มีเสรีภาพและสังคมไทยที่เป็นคอมมิวนิสต์ผ่านมุมมองต่าง ๆ ในสังคม อาทิ วิถีชีวิตทั่วไป ความสุขความบันเทิงของประชาชน สภาพเศรษฐกิจฐานรากภายใต้รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชีวิตเกษตรกรไทย การสร้างฐานมวลชน จัดตั้งแบบบังคับขู่เข็ญให้หวาดกลัวและเชื่อฟัง การพิจารณาคดีชำระความผ่านศาลเตี้ย การแสดงความเคารพผู้อาวุโสและครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนวิชาความรู้ และระบบการศึกษาในประเทศคอมมิวนิสต์ที่สั่งสอนให้เกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ภาพโปสเตอร์ชิ้นที่ทุกท่านเห็นอยู่นี้ เป็นภาพโปสเตอร์ในชุดคอมมิวนิสต์หรือเสรีภาพ ในมิติชีวิตเกษตรกรไทย กล่าวคือ หากอยู่ในประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ ชีวิตเกษตรกรหรือราษฏรจะไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน และทุกคนจะถูกบังคับให้ทำงานหนักเยี่ยงวัวควาย หากแต่ประเทศไทยไม่หลงเชื่อและรับเอาคอมมิวนิสต์ จะมีเสรีภาพ ชาวนาไทยจะมีกรรมสิทธิในที่นาทำกินของตน
จะเข้ของจิตร ภูมิศักดิ์
จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชน นักคิด นักปฏิวัติคนสำคัญของประเทศ เป็นศิลปินที่แต่งเพลงสะท้อนปัญหาของชนชั้นแรงงานหลายต่อหลายเพลงในระหว่างที่เขาถูกจับกุม ในวันที่ 21 ตุลาคม 2501 โดยเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถูกย้ายสถานที่คุมขังในช่วงต้นปี พ.ศ. 2503 เนื่องจากนโยบายการไล่จับคอมมิสนิสต์ของคณะปฏิวัติ ทำให้คนล้นคุก และคุกไม่มีที่เพียงพอในการคุมขัง จิตร ภูมิศักดิ์ จึงถูกขังที่คุกลาดยาว โดยมีกิจกรรมอ่านหนังสือ เขียนกวีการเมือง และแต่งเพลง จำนวนหลายชิ้น จิตรมีเครื่องดนตรี “จะเข้” ชิ้นนี้ ใช้ในการประพันธ์เพลงสำคัญ ๆ หลายบทเพลงที่คุกลาดยาวในช่วงเวลานั้น
เนื้อและโน๊ตเพลงศักดิ์ศรีของแรงงาน
แม้ประเทศชาติจะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดของอำนาจเผด็จการ แต่จิตใจที่ยังมั่นคง ยืนหยัดในอุดมการณ์แห่งชนชั้นกรรมชีพของแรงงานไทยไม่เคยเจือจางลง สิ่งเหล่านั้นถูกถ่ายทอดผ่านเนื้อเพลงและโน้ตดนตรีที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนขึ้นระหว่างถูกคุมขังในคุกลาดยาว คุกลาดยาวในช่วงเวลานั้นมีทั้งผู้นำแรงงานและนักต่อสู้เพื่อสังคมหลายคนถูกคุมขังอยู่ บทเพลงศักดิ์ศรีของแรงงาน เป็นเพียงหนึ่งในหลายบทเพลงของจิตรที่เขียนขึ้นภายในคุกลาดยาว เพลงรำวงวันเมย์เดย์ ที่ร้องกันในขบวนแถวของผู้ใช้แรงงานในทุกวันนี้ก็ถูกประพันธ์ขึ้นโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เขียนขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลขณะที่ถูกจองจำ นับได้ว่าเพลงปฏิวัติต่าง ๆ ของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นมรดกทางปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อปลุกใจไม่ให้ท้อแท้แด่ชนชั้นปฏิวัติทั้งหลาย
เก้าอี้ภายในห้องขัง ของจิตร ภูมิศักดิ์
เก้าอี้ตัวนี้ เป็นเก้าอี้ตัวโปรดของจิตร ภูมิศักดิ์ ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกลาดยาว จิตรถูกจับกุมในวันที่ 21 ตุลาคม 2501 โดยคณะปฏิวัติที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นหัวหน้า ในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ การคุมขังจองจำของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกโยกย้าย 3 แห่ง คือ กองปราบปทุมวัน เรือนจำลาดยาวใหญ่ และเรือนจำลาดยาวเล็ก ช่วงอยู่ในคุกจิตรมักมีกิจกรรมเด่นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ของผู้ต้องขัง เช่น สิทธิในการเยี่ยมญาติ สิทธิในการอ่านหนังสือพิมพ์ เป็นต้น รวมถึงการผลิตผลงานหลายต่อหลายชิ้นขณะนั้น เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย ศิลปะเพื่อชีวิตและศิลปะเพื่อประชาชน และกวีการเมือง เป็นต้น หลังได้รับการปล่อยตัวช่วงต้นปี พ.ศ. 2508 กินเวลาไปถึง 6 ปีกว่าหลังการถูกคุมขัง จิตรจึงได้เข้าป่าเพื่อเข้าร่วมในขบวนการประชาชนในช่วงปลายปีนั้นเอง และเขาได้ต่อสู่นานถึง 6 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509
สมุดบัญชีรายชื่อคอมมิวนิสต์ของตำรวจสันติบาล
รัฐบาลไทยมีความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ นับแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชต่อเนื่องมาถึงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผู้คนที่มีความคิดแตกต่างในทางการเมืองจำนวนมากถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คนเหล่านี้จะถูกกวาดล้างจับกุม โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารในปี 2490 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยมเสรีกับคอมมิวนิสต์ก็ได้ก่อตัวขึ้น และคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ภายใต้การแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทนที่มหาอำนาจเก่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยความเชื่อในทฤษฎีโดมิโน่ โดยสนับสนุนรัฐต่าง ๆ ในภูมิภาคให้รับความเชื่อในลัทธิทุนนิยมเสรีและส่งเสริมให้เกิดการสถาปนารัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อเป็นปราการในการต่อสู้ป้องกันคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากจอมพล ป. และพรรคพวก ด้วยการสนับสนุนของอเมริกาผ่านการสร้างรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จ พร้อมนโยบายและโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีจนประเทศก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกขึ้นมาใช้ในปี 2504 เพื่อรองรับและส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เน้นภาคอุตสาหกรรมในเมือง ชนบทไทยถูกทอดทิ้งจนผู้คนต้องเข้าแสวงหางานทำในเมืองหลวงเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันกฎหมายแรงงานฉบับแรกที่ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2499 ถูกยกเลิก การมีอำนาจต่อรองภายใต้การรวมตัวจัดตั้งองค์กรของผู้ใช้แรงงานกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุน และด้วยข้ออ้างในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ รัฐบาลได้ลงมือกำจัด กวาดล้าง ผู้มีความคิดเห็นต่างกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนและผู้นำแรงงานจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง รวมถึงผู้นำแรงงานในขณะนั้น ศุภชัย ศรีสติ ถูกเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ติดสินประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใด ๆ สหภาพแรงงานถูกมองว่าเป็นองค์กรของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ เอกสารข้างต้น… Continue reading สมุดบัญชีรายชื่อคอมมิวนิสต์ของตำรวจสันติบาล