“…ด้วยเห็นทุกข์แก่เพื่อนกันเช่นนี้พวกเราซึ่งเป็นคนงานจึงได้รวบรวมเงินเล็กน้อยที่เข้าใจว่าเหลือจากนายจ้างอุบาทว์ได้รีดเอาไปโดยมิชอบธรรมคิดจัดตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้น โดยขนานนามหนังสือพิมพ์นี้ว่า ‘หนังสือพิมพ์กรรมกร’ ด้วยความมุ่งใจเป็นส่วนใหญ่คือหวังจะประหารสภาพแห่งการเป็นทาษซึ่งเป็นฉายาแฝงอยู่ในตัวคนงานฤาลูกจ้างให้ปลาศไปและให้อิศรภาพเข้ามาแทนที่” ถวัติฤทธิเดช – คำนำของหนังสือพิมพ์กรรมกร27 มกราคม 2465 หนังสือพิมพ์กรรมกร (พ.ศ. 2465-2467) นับเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทต่อสมาคมคนงาน และสร้างสำนึกทางการเมืองของแรงงานเป็นอย่างยิ่ง ผ่านปัญญาชนเสรีนิยมที่เรียกตนเองว่า “คณะกรรมกร” หรือคณะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประกอบไปด้วย ถวัติ ฤทธิเดช, สุ่น กิจจำนงค์, ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร, ถวัลย์ ชาติอาษา และขุนสมาหาร หิตะคดี (โประ โปรคุปต์) คณะกรรมกรได้กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาททางความคิดและการเมืองแก่ขบวนการแรงงานในขณะนั้น ซ้ำยังเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิแรงงาน ปลูกฝังความคิดทางการเมืองและประชาธิปไตยแก่คนงาน รวมถึงการมีบทบาทในการจัดตั้งกรรมกรรถรางขึ้น ซึ่งกลายไปเป็นฐานสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเหตุการณ์กบฏบวรเดช ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะกรรมกร เริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวเป็นสมาคมคนงานอาชีพต่าง ๆ ตลอดจนการนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้มีการปรับปรุงค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ (สังศิต พิริยะรังสรรค์, 2529) อ้างอิง สังศิต พิริยะรังสรรค์. ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม… Continue reading หนังสือพิมพ์กรรมกร
เทียนวรรณ
เทียนวรรณ หรือ เทียน วัณณาโภ นามปากกา “ต.ว.ส. วัณณาโภ” (พ.ศ. 2385 – 2458) นับเป็นหนึ่งในปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่ปรากฏขึ้นในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยปัญญาชนหลายคนในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้เห็นถึงความสำคัญและความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน จนเกิดการสะท้อนปัญหา ตลอดจนเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ให้แก่ผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง ผ่านการใช้ปากกาและงานเขียนของตน หรือเคลื่อนไหวเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับผู้ใช้แรงงาน และหนึ่งในปัญญาชนนักคิดเหล่านั้นก็คือ “เทียนวรรณ” เทียนวรรณ เป็นนักคิดสามัญชนรุ่นบุกเบิก เป็นทนายความ และเป็นผู้ทำหนังสือตุลวิภาคพจนกิจ และหนังสือศิริพจนภาค ออกมาเพื่อเผยแพร่ความคิดสมัยใหม่ เขาเป็นผู้เล็งเห็นความสำคัญของชนชั้นผู้ใช้แรงงานในขณะยุคสมัยนั้นที่ถูกเรียกขานว่า “ไพร่-ทาส” เขาเรียกร้องให้นำเอาระบบรัฐสภามาใช้ในการเมืองไทย เพื่อให้ผู้คนได้เสมอภาคกันในสังคม และนั่นทำให้เขาต้องถูกคุมขังอยู่นานถึง 17 ปี เนื่องจากความคิดของเขาก้าวหน้าเกินกว่าที่ผู้ปกครองในสมัยนั้นจะรับได้ ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย
ใบปลิวเรียกร้องของอู่ลากรถ
การเคลื่อนไหวครั้งแรกของกุลีลากรถเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2459 โดยมีกรรมกร 5 คนได้ร่วมกันออกประกาศให้จีนลากรถหยุดลากรถในวันที่ 4 เมษายน แต่ในวันดังกล่าวยังคงมีจีนลากรถบางส่วนออกมาทำงานตามปกติ ทำให้ถูกพวกรถลากด้วยกันทำร้าย เอกสารที่เห็นอยู่นี้เป็นเอกสารของกรรมกรลากรถชาวจีนทำใบปลิวรณรงค์เรียกร้องไม่ให้เพื่อนคนงานไปลากรถให้กับนายทุนเจ้าของอู่ที่เอาเปรียบคนงาน โดยใช้วิธีสาปแช่งคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ แม้ท้ายที่สุดจะได้รับการเจรจาระงับการขึ้นค่าเช่ารถของเจ้าของรถตามเดิม พร้อมรับรองความปลอดภัยระหว่างการลากรถ การต่อสู้ของกุลีลากรถครั้งใหญ่ปรากฏขึ้นในปี พ.ศ. 2475 กุลีลากรถจำนวน 6,000 คน ในกรุงเทพฯ ได้ทำการสไตรค์หยุดลากรถ เนื่องจากเจ้าของอู่รถค้ากำไรเกินควร โดยคิดอัตราค่าเช่ารถสูงกว่าอัตราที่ทางการกำหนด นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม และยุติลงในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หลังเจ้าของอู่รถได้ตกลงยินยอมลดค่าเช่า การสไตรค์หลายครั้งของกุลีจีนกลุ่มนี้แม้จะประสบความสำเร็จแต่กลับไม่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างแท้จริง เป็นการต่อสู้ให้มีชีวิตอยู่รอดเพียงเท่านั้น กุลีลากรถ หรือที่คนเรียกติดปากว่ารถเจ๊ก เกิดขึ้นในยุคที่กรุงเทพฯ กำลังพัฒนาเป็นเมืองศิวิไลซ์ตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวทศวรรษ 2430 และพัฒนาเป็นพาหนะหลักของคนกรุง แต่ต่อมาค่อย ๆ ลดจำนวนลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนรัฐได้ประกาศให้งดจดทะเบียนรถลากในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496… Continue reading ใบปลิวเรียกร้องของอู่ลากรถ
หนังสือทรัพยศาสตร์
หนังสือทรัพยศาสตร์ถือเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศสยาม (ไทย) ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2454 ผู้เขียนคือพระยาสุริยานุวัตร หรือ เกิด บุนนาค ซึ่งเป็นขุนนางผู้ไม่พอใจในความล้าหลังของระบบเศรษฐกิจและการปกครองของรัฐบาล “ข้างคนชั้นต่ำถึงจะอุตส่าห์ทำการเหน็ดเหนื่อยสักเท่าใดก็ได้ค่าแรงไม่พอจะเลี้ยงชีพให้มีความสุขเสมอไม่ได้แต่ฝ่ายชนชั้นสูงแม้แต่จะไม่ได้ทำงานอย่างใดหากมีทุนทรัพย์สมบัติสะสมอยู่มากก็ได้รับผลประโยชน์ซึ่งเกิดจากทุนและทรัพย์สมบัตินั้นเป็นธรรมดา” หนังสือทรัพยศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่ การผลิต การกระจายรายได้ การค้าและการแลกเปลี่ยน ภาคที่เป็นปัญหานำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์โดยฝ่ายรัฐบาล และถูกโจมตีทางการเมืองมากที่สุด คือ ภาคที่สองว่าด้วยการกระจายรายได้ เพราะกล่าวถึงกลไกความยุติธรรมของผลตอบแทน และที่มาของรายได้ของผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ค่าเช่าที่ดิน กำไร ค่าแรง สมาคมของคนงาน (แนวคิดในลักษณะสมัยกลาง ไม่ใช่แนวคิดสหภาพแรงงานยุคปัจจุบัน) แต่ถึงกระนั้น พระยาสุริยานุวัตรก็ไม่ได้สนับสนุนแนวทางการขบวนการสหภาพแรงงานที่มีการเจรจาต่อรองและการนัดหยุดงาน เพราะมองว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหลักการเสรีนิยมและเป็นการทำลายประโยชน์ของสังคม เช่นเดียวกันกับความเห็นของบรรดานักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกทั่วไป ท้ายที่สุดการอธิบายเนื้อหาในหนังสือโดยการพยายามอ้างอิงบริบทของสังคมขณะนั้น ทำให้รัฐบาลในช่วงเวลานั้นมองว่าทรัพยศาสตร์เป็นหนังสือแนวปฏิวัติจึงถูกห้ามตีพิมพ์และห้ามใช้ในการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 7 และกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในที่สุด อ้างอิง แล ดิลกวิทยรัตน์. “แรงงานในทรัพย์ศาสตร์: ทัศนะทุนนิยมในยุคศักดินา.” ใน ประวัติศาสตร์แรงงานไทย (ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร), บรรณาธิการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์ สุวิมล รุ่งเจริญ ศักดินา ฉัตรกุล… Continue reading หนังสือทรัพยศาสตร์
จดหมาย ร.5 ถึงกรมพระยาดำรงฯ เรื่องเลิกทาส
ระบบเศรษฐกิจและการผลิตแบบใหม่ที่อาศัยแรงงานรับจ้างเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตกได้ขยายตัวคืบคลานไปทุกพื้นที่ของโลกไม่เว้นแม้แต่สยามประเทศ ระบบการบังคับเกณฑ์แรงงานแบบดั้งเดิม กลายเป็นเรื่องป่าเถื่อน ล้าสมัยและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เกิดกระแสเรียกร้องจากชนชั้นล่างของสังคมเพื่อให้ยกเลิกพันธนาการ และการขูดรีดแรงงานในระบบศักดินา รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือการลุกขึ้นก่อกบฏของไพร่ในหลายพื้นที่ หลายช่วงเวลา และที่สำคัญแหล่งอำนาจและความมั่งคั่งของชนชั้นนำในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นหาได้มาจากการบังคับเกณฑ์แรงงานแบบเดิมอีกต่อไป ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สภาวะจำยอมในการตราพระราชบัญญัติยกเลิกระบบไพร่-ทาสจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับใช้ในกาลต่อมา ทั้งจากเหตุผลข้างต้นและเหตุผลด้านการเมืองภายในประเทศ ผลของการยกเลิกระบบไพร่-ทาส ซึ่งนับเป็นการลดอำนาจของกลุ่มขุนนางลงด้วยในทางปฏิบัติในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ทำให้ประชากรสยามในขณะนั้นที่มีราว 8.13 ล้านคน ซึ่งเป็นเจ้านายขุนนางที่ถือเป็นชนชั้นปกครองประมาณ 1 ล้านคน กลุ่มคนที่เป็นไพร่ 5.78 ล้านคน และทาส 1.35 ล้านคน มีฐานะเท่าเทียมกันในทางทฤษฎี เอกสารทางประวัติศาสตร์ข้างต้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป รัชกาลที่ 5 ได้ทำจดหมายบันทึกถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เตรียมการให้การศึกษากับบรรดาลูกทาสที่จะได้เป็นไทหลังอายุครบ 20 ปี เพื่อให้มีความรู้ไปทำมาหากินไม่ขายตัวลงเป็นทาสอีกต่อไป
เอกสารต้นร่างสัญญาบัตรขุนนางในกรุง
สำหรับรัฐจารีตโบราณกระทั่งถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ “กำลังคน” ถือเป็นทรัพยากรสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร สังคมไทยในยุคอดีต “ระบบไพร่” ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและเกณฑ์แรงงานผู้คนให้มาทำงานและสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐ และผู้ปกครอง (มูลนาย) ระบบไพร่ยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดสถานภาพ หน้าที่ ตลอดจนความรับผิดชอบของกลุ่มคนและเป็นเครื่องมือในการแบ่งชนชั้นและบ่งบอกชนชั้นในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น มีข้อสันนิษฐานว่ารัฐจารีตของไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ได้แบ่งคนในสังคมออกเป็น 2 ชนชั้น คือ ชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นผู้ถูกปกครอง ชนชั้นผู้ปกครองหรือมูลนายประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนาง ส่วนชนชั้นผู้ถูกปกครอง ได้แก่ ไพร่ และ ทาส เอกสารต้นร่างสัญญาบัตรขุนนางในกรุงชิ้นนี้ คือ เอกสารการแต่งตั้งข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการกำหนดจำนวนศักดินาให้กับขุนนางต่างๆ
เอกสารภาษี
ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวสยามยังเป็นแรงงานบังคับภายใต้ระบบไพร่ ไม่มีอิสระที่จะทำงานหรือหารายได้ด้วยตนเอง จึงมีการนำเอาแรงงานจากจีนเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยคนจีนที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองไทยหรือที่เรียกว่า “จีนนอก” และลูกหลานจีนนอกที่ไม่มีสังกัดมูลนายในระบบไพร่ ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเช่นเดียวกับไพร่ ต่างกันตรงที่ไพร่ทั้งหลาย (ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ลาว เขมร จีน) ต้องถูกเกณฑ์แรงงานทุกปี ส่วนการเกณฑ์แรงงานคนจีนมีทุก 3 ปี ระยะเวลามากน้อยต่างกัน เช่น 1 หรือ 2 เดือน แล้วแต่ราชการจะกำหนด หากแต่คนจีนที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงานต้องเสียเงินแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นการเรียกเก็บเงินภาษีรายหัวที่เรียกว่า “ผูกปี้ข้อมือจีน“ แทน ซึ่งค่าผูกปี้จะตกอยู่ราวปีละ 2 บาท คนจีนคนใดจ่ายเงินให้กับรัฐแล้วจะได้รับการผูกปี้ครั่งที่ข้อมือซ้าย ลักษณะเป็นปมเหลือชายไว้ประมาณ 1 นิ้ว แล้วใช้ครั่งลนไฟแล้วกดลงที่ปมเชือกเป็นก้อนกลม แล้วตามด้วยการประทับตราสำคัญของทางราชการ 2 ดวง คือ “ตรานามเมือง” และ “ตรารูปสิ่งของหรือรูปสัตว์” ลงบนครั่งด้านละตรา ปี้ที่ผูกไว้นี้ใช้เป็นหลักฐานการเสียภาษีแทนการเกณฑ์แรงงานคนจีนที่อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยสมัยก่อน อันเป็นสัญลักษณ์ว่ามีอิสระที่จะเดินทางไปไหนมาไหนหรือรับจ้างใด ๆ ได้ และจะตัดปี้ทิ้งได้ก็ต่อเมื่อพ้นช่วงเวลาของการเสียภาษี ในระหว่างนั้นหากคนจีนคนใดไม่มีปี้ผูกไว้ที่ข้อมือจะต้องเสียภาษีใหม่ คนจีนที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานและเสียภาษีผูกปี้คือ จีนขุนนาง เช่น เจ้าภาษี นายอากร… Continue reading เอกสารภาษี
เอกสารเปิดประเทศกับอเมริกา
“พลเมืองของกรุงสยามตามกฎหมายจัดอยู่ในประเภทไพร่หรือข้าผู้รับใช้ของรัฐและจะถูกบังคับให้มีหน้าที่สละแรงงานให้แก่รัฐไม่ว่ารูปใดก็ได้เป็นระยะเวลา 3 เดือนทุกๆปี หากไม่สามารถเข้ามาประจำการได้จะต้องส่งเงินหรือสิ่งของเป็นส่วยแทนค่าแรง ซึ่งนับเป็นภาษีที่เป็นภาระหนัก” (บันทึกของจอห์น ครอว์เฟิร์ด) ระบบเศรษฐกิจแบบพอยังชีพและระบบไพร่ที่ผู้คนยังต้องถูกบังคับไปทำงาน เพื่อส่งส่วยให้กับรัฐและเจ้าขุนมูลนาย ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือการผลิตเพื่อการค้าพัฒนาเติบโตล่าช้าในประเทศไทย ขณะที่ซีกโลกตะวันตกมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และระบบทุนนิยมได้พัฒนาจนกลายเป็นแนวทางหลักของการดำเนินเศรษฐกิจไปแล้ว แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวสยามยังอยู่ภายใต้ระบบศักดินา โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า “เศรษฐกิจพอยังชีพ” ซึ่งมีชุมชนหมู่บ้านเป็นหน่วยการผลิตสำคัญ และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำการผลิตทุกอย่างทั้งเกษตรกรรม กสิกรรมและหัตถกรรม เพื่อการกินใช้ภายในชุมชนเป็นสำคัญ เพราะหากมีผลผลิตส่วนเกินที่เหลือจากการบริโภคอาจถูกรัฐและเจ้าขุนมูลนายริบเอาเข้าเป็นของหลวงหรือเป็นของมูลนายเสียเอง ทุนนิยมและการจ้างงานในสยามถูกกระตุ้นจากการเปิดประเทศ และการเชื่อมต่อกับทุนนิยมโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษในปี พ.ศ.2398 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประตูการค้ากับชาติตะวันตกซึ่งได้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาสู่สยามในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมที่เป็นการผลิตเพื่อการกินใช้ในชุมชนได้พัฒนาสู่การผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น ระบบการค้าขายที่แต่เดิมเป็นระบบการค้าผูกขาดโดยรัฐได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นการค้าเสรี มีการขยายตัวของการลงทุนในกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาวต่างชาติ อุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เข้าช่วยในการผลิตและมีการจ้างงานแรงงานจำนวนมากได้ขยายตัวขึ้นในแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทำให้เกิดการขยายตัวของแรงงานรับจ้างคือ “ผู้ที่ทำงานโดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนไม่ใช่แรงงานบังคับในระบบไพร่-ทาสที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง” อย่างที่เคยเป็นมาในสังคมไทยในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ซึ่งต่อมามีผลทำให้ระบบแรงงานบังคับไพร่-ทาสต้องเสื่อมสลายและถูกยกเลิกไปในที่สุด
เอกสารเกณฑ์ไพร่พล ไทย-มอญ
สังคมไทยแต่เดิมเป็นสังคมศักดินา คนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นแรงงานบังคับที่เรียกกันว่าไพร่ และร้อยละ 80-90 จะเป็นไพร่ เมื่อเป็นเช่นนั้นชนชั้นไพร่จึงนับเป็นพื้นฐานของสังคม ไพร่ คือ ราษฎรสามัญทั่วไป ทั้งชายและหญิงที่มิได้เป็นมูลนายและมิได้เป็นทาส มีศักดินา 10-25 (ไร่) ไพร่ทุกคนจะต้องลงทะเบียนขึ้นสังกัดกับมูลนาย อย่างไรก็ตาม ไพร่ชายและหญิงมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ไพร่ชายจะถูกเกณฑ์มาทำราชการโยธาตามกำหนดเวลาเป็นประจำ สำหรับไพร่หญิงส่วนใหญ่จะเพียงแต่นำมาขึ้นทะเบียนเป็นไพร่ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกเกณฑ์แรงงาน และงานที่ถูกเกณฑ์มาทำมักเป็นงานเบากว่างานของไพร่ชาย โดยปกติแล้วเมื่อเอ่ยคำว่า “ไพร่” มักหมายถึง “ไพร่ชาย” คนไทยและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่น มอญ ลาว พม่า ต้องถูกสักข้อมือ (สักหมายหมู่) เป็นไพร่ถูกเกณฑ์แรงงานโดยมูลนาย การสักสักหมายหมู่จึงเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาไพร่หนี มาตรการนี้ได้เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2316 ในสมัยธนบุรี และในปีต่อมา (พ.ศ. 2317) ได้มีการออกกฎหมายที่ระบุให้ไพร่ทุกคนต้องสักชื่อเมืองและชื่อมูลนายไว้ที่ข้อมือ เดิมหลักฐานที่บ่งชี้บอกว่าผู้ใดเป็นไพร่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่บัญชีหางว่าว การสักสักหมายหมู่เป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานะความเป็นไพร่ที่จะติดตามตัวไพร่ไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยมาตรการนี้ทำให้ไพร่หลบหนีจากเมืองหนึ่งไปอยู่อีกเมืองหนึ่งได้ลำบากขึ้น ส่วนทางการก็สามารถติดตามไพร่ที่หนีสังกัดได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นกฎหมาย พ.ศ. 2317 มีการกำหนดโทษผู้ปลอมแปลงเหล็กสักหรือขโมยเหล็กสักของหลวงไปใช้ โดยกำหนดให้มีโทษประหารชีวิต (ทั้งโคตร) ในสมัยต่อมา สมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้มีการรับเอามาตรการในเรื่องของการสักสักหมายหมู่เป็นแนวปฏิบัติสืบมา… Continue reading เอกสารเกณฑ์ไพร่พล ไทย-มอญ
เอกสารค้าทาส
ในสังคมสยาม (ไทยโบราณ) ผู้เป็นฐานกำลังสำคัญในกระบวนการผลิตและการพัฒนาประเทศก็คือ แรงงานบังคับที่เรียกกันว่า “ไพร่” และ “ทาส” มาถึงวันนี้วันที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างสมบูรณ์ ผู้ใช้แรงงานหรือคนทำงานที่ยังคงเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศ แม้ว่าแรงงานจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศนี้ แต่เรื่องราวของพวกเขากลับกลายเป็นสิ่งลึกลับ และหายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ของรัฐเอาแต่ยกย่องเชิดชูชนชั้นสูงเพียงหยืบมือเดียวในสังคม แต่กลับละเลยและมองไม่เห็นความสำคัญของแรงงาน ที่มีเรื่องราว บทบาท คุณค่าและคุณูประการของผู้คนที่ได้อุทิศตนทำงานให้กับประเทศมาอยากยาวนาน แรงงานในประเทศนี้ ยังคงเป็นกลุ่มคนผู้อาภัพที่ทุ่มเททำงานให้กับสังคมอย่างเหน็ดเหนื่อย แต่ถูกมองว่าต่ำต้อยด้อยค่าในสังคมเสมอมา พวกเขาเคยมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากแค้นลำเค็ญอย่างไรในครั้งอดีต ในปัจจุบันก็พวกเขาก็ยังคงมีสถานะทางสังคมที่ไม่ได้แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา แรงงานยังคงได้รับส่วนแบ่งจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตเป็นค่าจ้างเพียงน้อยนิด ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ขาดสวัสดิการพื้นฐานที่ดีและเพียงพอ งานหลายประเภทยังอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ในแต่ละปีจะมีผู้ใช้แรงงานต้องเสียชีวิต เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บและเผชิญปัญหานานาประการที่เกิดจากการทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก